การเพาะพันธุ์ปลากัด
การเพาะพันธุ์ปลากัดดำเนินได้ตามขั้นตอนต่อไปนี้
7.1 การเตรียมพ่อแม่พันธุ์ ปลากัดจะสมบูรณ์เพศเมื่ออายุ 4 - 6 เดือน สามารถนำไปใช้เป็นพ่อแม่พันธุ์ได้ การเลือกปลาเพศผู้ควรเลือกปลาที่คึกคะนอง คือ เมื่อนำปลาดังกล่าวไปใกล้กับปลาเพศผู้ตัวอื่น ก็จะแสดงอาการก้าวร้าวทันที โดยจะกางกระพุ้งแก้มและกางครีบ รี่เข้าหาปลาตัวอื่นทันทีพร้อมที่จะกัด หรืออาจสังเกตจากการสร้างหวอดก็ได้ เพราะปลาเพศผู้ที่สมบูรณ์เพศและพร้อมจะผสมพันธุ์ มักจะสร้างหวอดในภาชนะที่เลี้ยงเสมอ สำหรับปลาเพศเมียควรเลือกปลาที่มีท้องแก่ คือมีไข่แก่เต็มที่ โดยสังเกตได้จากส่วนท้องของปลา ซึ่งจะขยายตัวพองออกอย่างชัดเจน และเมื่อลองให้อดอาหารเป็นเวลา 1 วัน ส่วนท้องก็ยังคงขยายอยู่เช่นเดิม นำแม่ปลาที่เลือกได้ไปใส่ขวดแล้วนำไปวางเทียบกับปลาเพศผู้ เมื่อปลาเพศผู้แสดงอาการเกี้ยวพาราสี ปลาเพศเมียที่ท้องแก่จะเกิดลายสีขาวแกมเหลืองพาดจากส่วนหลังลงไปทางส่วนท้อง จำนวน 4 - 6 แถบ ในเรื่องสีสันของปลานั้นสามารถเลือกได้ตามความชอบของผู้ดำเนินการ เพราะปลาสีต่างกันสามารถผสมกันได้
ภาพที่ 15 แสดงลักษณะแม่ปลาที่ท้องแก่
.
7.2 การเทียบพ่อแม่พันธุ์ เมื่อเลือกได้ปลาเพศผู้และเพศเมีย ที่สมบูรณ์มีลักษณะและสีสันตามต้องการแล้ว นำปลาใส่ขวดแก้วใสขวดละตัวแยกเพศกันไว้ก่อน แล้วนำมาตั้งเทียบกันไว้ โดยการวางขวดใส่ปลาให้ชิดกันและไม่ต้อมีกระดาษปิดคั่น ต้องการปล่อยให้ปลามองเห็นกัน ลักษณะเช่นนี้เรียกว่า “การเทียบ” ควรเทียบไว้นานประมาณ 4 - 7 วัน เพื่อให้ปลาเกิดความเคยชินซึ่งกันและกัน เมื่อปล่อยลงบ่อเพาะแม่ปลาจะไม่ถูกพ่อปลาทำร้ายมากนัก ในขณะเดียวกันแม่ปลาก็จะมีไข่แก่เต็มที่
ภาพที่ 16 แสดงลักษณะการเทียบพ่อแม่พันธุ์ปลากัดในขวด(ซ้าย) และในภาชนะขนาดใหญ่(ขวา)
7.3 การเตรียมบ่อเพาะพันธุ์ บ่อหรือภาชนะที่จะใช้เป็นบ่อเพาะปลากัดควรมีขนาดเล็ก ส่วนมากนิยมใช้ภาชนะต่างๆไม่มีบ่อถาวร เช่น อ่างดินเผา กะละมัง ถัง หรือตุ่มน้ำขนาดเล็ก เพราะสะดวกกว่าการเพาะในบ่อ ภาชนะดังกล่าวมักมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 30 - 40 เซนติเมตร ใส่น้ำสะอาดลงในภาชนะที่เตรียมไว้ให้มีระดับสูงประมาณ 10 - 15 เซนติเมตร จากนั้นใส่พันธุ์ไม้น้ำที่มีใบหรือลำต้นอยู่ผิวน้ำ เช่น จอก ผักตบชวา ผักบุ้ง หรือผักกระเฉด ลงไปบ้างเล็กน้อยเพื่อให้ปลาสร้างหวอดได้ง่าย
.
ภาพที่ 17 แสดงการเตรียมบ่อเพาะพันธุ์ปลากัดโดยใส่เฉพาะใบไม้(ซ้าย) หรือภาชนะขนาดเล็กที่ปลาเข้าไปทำรังได้(ขวา)
.
ภาพที่ 18 การเพาะปลากัดลูกทุ่งในขวดโหล
ภาพที่ 19 แสดงภาชนะอื่นๆที่นำมาใช้ในการเพาะพันธุ์ปลากัด
.
7.4 การปล่อยปลาลงบ่อเพาะ เมื่อเทียบปลาไว้เรียบร้อยแล้วจึงปล่อยปลาทั้งคู่ลงบ่อเพาะที่เตรียมไว้ ต้องพยายามอย่าให้ปลาตื่นตกใจมากนัก จากนั้นหาแผ่นวัสดุ เช่น กระดาษแข็ง หรือแผ่นกระเบื้อง ปิดบนภาชนะที่ใช้เพาะ โดยปิดไว้ประมาณ 2 ใน 3 ของพื้นที่ปากภาชนะ เพราะปลากัดมักชอบวางไข่ในบริเวณที่มืด เนื่องจากต้องการความเงียบสงบ วัสดุที่นำมาปิดจะสามารถช่วยบังแสงและกันลมไม่ให้หวอดของปลาแตก เทคนิคที่สำคัญคือ การปล่อยพ่อแม่ปลาควรปล่อยในตอนเย็น เวลาประมาณ 17.00 - 18.00 น. เพราะโดยปกติแล้วเมื่อปล่อยพ่อแม่ปลารวมกัน ปลาเพศผู้จะเกี้ยวพาราสีปลาเพศเมีย โดยว่ายน้ำต้อนหน้าต้อนหลังอยู่ประมาณ 15 นาที จากนั้นจะไล่กัดปลาเพศเมียจนปลาเพศเมียจะต้องหนีไปแอบซุกอยู่ตามพันธุ์ไม้น้ำ แล้วปลาเพศผู้จะเริ่มหาที่ก่อหวอด เมื่อก่อหวอดไปพักหนึ่งก็จะไปไล่กัดปลาเพศเมียอีก ดังนั้นหากปล่อยปลาทั้งคู่ตั้งแต่เช้าปลาเพศเมียก็จะถูกกัดค่อนข้างบอบช้ำ แต่ถ้าปล่อยใกล้ค่ำเมื่อปลาเพศผู้หาจุดสร้างรังได้ก็จะค่ำพอดี ปลาเพศผู้จะไม่ไปรบกวนปลาเพศเมียอีก แต่จะสร้างรังไปจนเรียบร้อย รุ่งเช้าก็พร้อมจะผสมพันธุ์ได้
.
ภาพที่ 20 แสดงการปิดแสงบ่อเพาะพันธุ์ปลากัดเพียงบางส่วน(ซ้าย) หรือในขันปิดหมด(ขวา)
.
.
7.5 การตรวจสอบการวางไข่ของปลา ตามปกติแล้วถ้าปลามีการวางไข่ ก็มักจะวางไข่เสร็จก่อนเวลาประมาณ 10.00 น. ดังนั้นเมื่อปล่อยปลาลงบ่อเพาะแล้ว เช้าวันต่อมาเวลาประมาณ 10.00 น. จึงค่อยๆลองแง้มฝาปิดดู ถ้าพบว่ามีไข่เม็ดเล็กๆสีขาวอยู่ที่หวอด และมีพ่อปลาคอยเฝ้าอยู่ ส่วนแม่ปลาหนีไปซุกอยู่ด้านตรงข้ามกับหวอด แสดงว่าปลาวางไข่เรียบร้อยแล้ว ค่อยๆช้อนแม่ปลาออกไปเลี้ยงต่อไป ปลาเพศผู้จะคอยดูแลรักษาไข่ โดยหมั่นเปลี่ยนฟองอากาศในหวอดและตกแต่งหวอดให้คงรูปอยู่เสมอ นอกจากนั้นยังคอยเก็บกินไข่เสียด้วย
.
ภาพที่ 21 ลักษณะไข่ในหวอดใต้ใบไม้ (ซ้าย) และไข่ในหวอดที่มุมโหล (ขวา) จะเห็นฟองอากาศที่หวอดเ็ป็นสีขุ่นขาว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น